ในงานปฐมนิเทศผู้ปกครองระดับอนุบาลของโรงเรียนสาธิตพัฒนา ประจำปีการศึกษา 2560 ได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงชลทิพย์ กรัยวิเชียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต มาบรรยายในหัวข้อ “เลี้ยงลูกอย่างไร วัยอนุบาล”
เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูลูกในวัยอนุบาลและช่วยเตรียมพร้อมลูกเมื่อเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา
คุณหมอชลทิพย์ บอกถึงความสำคัญของการเลี้ยงดูลูกในวัย 3-5 ขวบว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการวางรากฐานชีวิต เนื่องจากเป็นวัยที่สมองพัฒนามากที่สุด หากอยากให้ลูกเป็นคนดีมีคุณธรรม เข้ากับเพื่อนได้ เป็นคนเก่งตามศักยภาพ มีสุขภาพกายและใจแข็งแรงไปตลอดชีวิต จะได้ผลมากที่สุดจากการเลี้ยงดูลูกในวัยนี้
Δ เด็กทุกคนกล่อมเกลาได้ด้วยการเลี้ยงดู
หัวใจของการดูแลลูกคือ ผู้เลี้ยง ตัวลูก และลักษณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น พื้นอารมณ์ ลักษณะทางพันธุกรรม ที่จะเป็นตัวกำหนดตัวตนของเด็กแต่ละคนจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่
“เด็กบางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก แต่ทั้งหมดเราสามารถกล่อมเกลาให้ออกมาดีได้ ไม่ว่าเด็กจะเป็นแบบไหนด้วยทัศนคติในการเลี้ยงดู ความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็ก การปรับพฤติกรรมและการเป็นตัวอย่างที่ดีของพ่อและแม่”
คุณหมอ เน้นย้ำว่า การปรับพฤติกรรมต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพราะหากโตแล้วจะไม่สามารถปรับพฤติกรรมได้ เด็กเล็กๆ อาจจะทำผิดซ้ำๆ ไปบ้าง พ่อแม่ต้องบอกเหตุผลว่าไม่ควรทำเพราะอะไร รวมถึงตกลงกับทุกคนในบ้านให้เลี้ยงดูเด็กในแบบเดียวกัน ไม่เช่นนั้นเด็กจะเกิดความสับสน ไม่สามารถปฏิบัติเป็นนิสัย ไม่เชื่อฟังและที่สำคัญต้องให้เวลา
Δ เข้าใจพัฒนาการเด็กและตัวตน
นอกจากความแตกต่างของเด็กแต่ละคนแล้ว คุณหมอยังบอกด้วยว่า พัฒนาการแต่ละช่วงวัยเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูลูก ดังนี้
ในช่วง 2-4 ปี เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษา ช่างจดจำคำพูดของผู้ใหญ่ และช่างสงสัยช่างถาม เริ่มเดินคล่องและออกสำรวจ การเล่นเป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ สำหรับวัยนี้ ยิ่งหากมีโอกาสได้เล่นและทดลองสิ่งต่างๆ มากเท่าใด ก็จะเป็นผลดีกับลูกมากเท่านั้น
“ภาษาของเด็กวัยนี้จะพัฒนาเร็วมาก ถ้าลูกถามไม่ต้องตอบยาว ให้ใช้คำตอบแบบง่ายๆ เรื่องที่ต้องเป็นห่วงคือ วัยนี้ประสบการณ์ยังน้อย เขาจะไม่เข้าใจอะไรๆ เหมือนผู้ใหญ่ บางครั้งพ่อแม่คุยกันเสียงดัง ก็อาจร้องไห้เพราะคิดว่าพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือถ้าเด็กเดินชนโต๊ะ ถ้าพ่อแม่ตีโต๊ะ เด็กจะเรียนรู้ว่าโต๊ะผิด เขาจะไม่รู้จักเดินให้ระวังและไม่รู้จักการแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง”
โตขึ้นมาอีกหน่อย ในช่วงอายุ 4-7 ปี เด็กจะมีจินตนาการกว้างไกล บางครั้งเด็กจะพูดตามความคิดของตนเองไม่ได้ตั้งใจโกหก ผู้ใหญ่ต้องระวังเข้าใจผิดและอย่าไปดุ แต่ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่กล้าพูด
ในวัย 6-7 ขวบ เด็กจะเริ่มมีจินตนาการมากขึ้น มีเรื่องอยากเล่าให้ฟังมากมาย เริ่มเข้าใจกฎกติกา ชอบเล่นเกม และต้องการชนะ เด็กจะมีมุมมองของตนเองแต่ไม่เห็นมุมมองของคนอื่น ถ้าเขายังทำอะไรไม่ได้ ไม่ต้องตกใจเพราะอาจจะไม่ใช่ลักษณะในวัยของเขา
Δ ปลูกฝังรากฐานคุณธรรม-ทักษะสังคม
การปลูกฝังนิสัยด้านสังคม เริ่มต้นพัฒนาได้ตั้งแต่วัย 1-3 ปี ช่วงนี้จะเป็นวัยที่เอาใจยาก อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว พ่อแม่จึงต้องเข้าใจเด็กมากๆ เมื่อเขาพร้อม พ่อแม่อาจเริ่มสอนการขับถ่าย การรู้จักรอ พอช่วง 2-3 ปี เด็กจะเริ่มเล่นกับคนอื่น เข้าใจการแบ่งปัน รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานของคุณธรรม
“เมื่อเด็กเดินชนโต๊ะ แทนที่พ่อแม่จะเอามือไปตีโต๊ะหรือโทษว่าโต๊ะผิด ให้พ่อแม่เข้าไปช่วยปลอบเด็กว่า ไม่เป็นไรนะลูก แบบนี้เด็กเจ็บแค่ไหนก็จะรู้สึกดี พอทำแบบนี้เมื่อเด็กเห็นเวลาเราเจ็บ เขาจะเข้ามาปลอบโยนเราเหมือนที่เขาเคยได้รับ นั่นคือวิธีสอนให้เด็กรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น”
Δ เด็กเรียนรู้จากพ่อแม่
ในช่วงอายุ 3-7 ปี เด็กจะรู้จักเพศของตนเอง อยากรู้อยากเห็น ชอบคำชม ชอบถามเพื่อเสริมความมั่นใจ สามารถยอมรับกฎของสังคมได้ เริ่มเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็นจากที่บ้านมาใช้ที่โรงเรียน
“ขอยกตัวอย่างเคสหนึ่ง มีเพื่อนทำน้ำหกในห้องเรียน เด็กคนหนึ่งว่ากล่าวเพื่อน ขณะที่เด็กอีกคนเดินไปเอาผ้ามาเช็ด เราจะเห็นว่าใครรู้จักแก้ปัญหา และจะทราบเลยว่าเด็กคนไหนเรียนรู้อะไรมาจากที่บ้าน เขาเลียนแบบใคร”
พ่อแม่นอกจากจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว ยังต้องเปิดโอกาสให้เด็กทำอะไรด้วยตนเองด้วย
“ เด็กจะมั่นใจจากการที่ทำอะไรซ้ำๆ แล้วสำเร็จ ทำให้เด็กมีทักษะทางสังคมที่ดี เมื่อเด็กกังวลจะมีพฤติกรรมที่ถดถอย และอย่าพูดขู่เด็กให้กลัว แต่ให้ความชัดเจนกับเด็ก อันไหนเล่นได้ เล่นไม่ได้ ให้จริงจังและชัดเจน ไม่คือไม่ อย่าใจอ่อน”
ส่วนเรื่องวินัยในตนเอง ความเห็นอกเห็นใจ กิริยามารยาท ต้องสอนในวัยนี้จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะพฤติกรรมที่ดีเริ่มจากการเลียนแบบก่อนจะพัฒนาเป็นนิสัยส่วนตัว
Δ สร้างบรรยากาศความรัก
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดว่า ความรักความอบอุ่นและความสงบสุขในครอบครัวมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้บ้านมีบรรยากาศที่ดี เด็กจะรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย สุขภาพจิตดี และจะโตขึ้นมาเป็นเด็กอารมณ์ดีและพร้อมจะเรียนรู้
“ความรักที่ให้กับเด็กต้องมีความมั่นคงและไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่รักเฉพาะตอนที่เด็กทำถูกใจเรา พอทำไม่ดี พ่อแม่ก็ไปบอกเด็กว่าจะไม่รักเขาแล้วนะ เด็กจะรู้สึกไม่มั่นคง สำคัญเลย พ่อแม่ควรรักอย่างมีขอบเขต ไม่ประคบประหงมเอาใจหรือตามใจลูกจนเกินไป เพื่อให้เขาเติบโตไปเป็นคนที่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข เมื่อมีความรักแล้วก็ตามมาด้วยการสัมผัส การกอด ลูบหัว ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นหนักแน่น ความรักจะทำให้ลูกรู้สึกมีคุณค่า รักคนอื่นเป็น และเขาจะไม่มีวันทำให้พ่อแม่เสียใจ หากมีเหตุการณ์ใดที่เข้ามาให้ตัดสินใจ ลูกจะนึกถึงพ่อแม่ก่อน จึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี”
5 ตัวช่วยสร้างเด็กมีทักษะชีวิตและความสุข
- ช่วยให้เด็กรู้สึกดีต่อตนเองและคนรอบข้าง กระจกแรกคือพ่อแม่ ต่อมาคือโรงเรียน สังคม คนรอบข้างต้องยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ชมเชยเมื่อเด็กทำดี ทำผิดก็อย่าตำหนิรุนแรงและอธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไร สิ่งสำคัญมากๆ คือการไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
- ให้อิสระการตัดสินใจตามวัย ถ้าไม่อันตรายเกินไป ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่ปกป้องเด็กเกินไป จะทำให้เขาไม่สามารถดูแลตนเองได้ คิดไม่เป็น ต้องพึ่งพาคนอื่น ไม่กล้าคิดนอกกรอบ
- ช่วยให้เห็นความสามารถและคุณค่าของตนเอง หลังจากที่เด็กทำอะไรสำเร็จ พ่อแม่จะต้องสอนให้เด็กรู้จักคุณค่าของตนเอง ชมอย่างพอดีไม่ให้เหลิง เด็กที่ไม่ได้รับการฝึก จะไม่มั่นใจ แม้จะเป็นคนเก่งก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะคุณค่าของเขาจะมาจากคำชม ถ้าไม่ชมจะทำไม่ได้ ต้องสอนให้รักตนเองเพื่อเขาจะสามารถดูแลตนเองและผู้อื่นได้
- ช่วยให้เด็กคิดแบบมีหลักการและเหตุผล การเลี้ยงลูกให้เป็นคนมีเหตุผล พ่อแม่ต้องให้เหตุผลอย่างจริงจัง แล้วคำพูดนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าเราเอาคนนอกบ้านมาขู่ เช่น อย่าทำนะ ไม่เช่นนั้นจะให้ตำรวจมาจับ จะพาไปให้หมอฉีดยา แบบนี้พ่อแม่จะคุมเด็กไม่ได้แล้ว เพราะคนที่เขากลัวเป็นคนนอกบ้านไม่ใช่พ่อแม่ที่สำคัญควรสอนให้อายในเรื่องที่น่าอาย ยกตัวอย่างเน็ตไอดอลบางคนทำเรื่องน่าอาย โชว์เรือนร่างเพราะแค่ต้องการยอดไลค์ แต่ไม่รู้ตัวว่าทำอย่างนี้เป็นเรื่องน่าอาย หรืออายอะไรแบบผิดๆ “ไม่ต้องอายถ้าบ้านเราไม่รวย ไม่ต้องอายถ้าพ่อแม่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่อายถ้าเราผิดศีลธรรม ทำผิดกฎของสังคม และไม่ต้องอายแต่ให้มั่นใจถ้าเราทำถูก”
- อบรมเลี้ยงดูด้วยตัวพ่อแม่เอง อย่าหวังให้คนอื่นสอนลูกเรา ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายายหรือครู พ่อแม่ต้องเป็นบุคคลหลักที่สอนลูกด้วยตนเอง เขาจะผูกพันกับเราทำให้สอนอบรมได้ง่ายเป็นสิ่งสำคัญในช่วงอายุ 5-6 ปี
“พ่อแม่บางท่านกังวลว่า เราเข้มงวดกับลูกเกินไปไหม หรือปล่อยเกินไปหรือเปล่า ให้กลับมาดูว่าเราเข้าใจธรรมชาติของเด็กหรือยัง พื้นอารมณ์ของเด็กเป็นอย่างไร เด็กที่ถูกคาดหวังเกินไปก็จะเกิดความคับข้องใจ ขณะที่เด็กที่ถูกปล่อยเกินไป ก็จะไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้เลย การเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจจะทำให้พ่อแม่เดินถูกทางยิ่งขึ้น”
ในตอนท้าย คุณหมอยังฝากย้ำด้วยว่า เด็กในวัยอนุบาลจะต้องเลี้ยงดูให้เขาได้เรียนรู้อย่างสนุกและผ่อนคลาย ไม่กดดันเกินวัย ไม่เร่งเรียนในวัยที่เขายังไม่พร้อมจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
“อย่ากลัวว่าลูกไม่เรียนพิเศษจะสู้เพื่อนได้ไหม เราเลี้ยงเด็กไม่ได้เพื่อให้มาสู้กับใคร แต่เลี้ยงเพื่อให้เขาเป็นคนที่มีความสุข เก่งตามศักยภาพ ไม่ใช่เพื่อแข่งขัน เมื่อเขาถูกเลี้ยงมาด้วยความพร้อม พื้นฐานดี พอโตขึ้นการเรียนรู้เขาจะดีและพร้อมแข่งขันในวัยของเขาเอง เว้นแต่เด็กอยากเรียนเองก็ให้การสนับสนุน”
ทั้งหมดเป็นแนวทางการดูแลลูกวัยอนุบาลจากคุณหมอชลทิพย์ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองได้นำไปปรับใช้เพื่อสร้างลูกให้เป็นคนที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งวันนี้และอนาคต