รู้จักวัยรุ่นทั้งตัวและหัวใจ โดย น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี

ทุกวันนี้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ไม่สามารถใช้ความรู้แบบเดิมได้ทั้งหมดอีกแล้ว ประกอบกับทุกวันนี้มีงานวิจัยใหม่ๆ เข้ามาปลดล็อกความเข้าใจผิดในการเลี้ยงดูลูกอย่างมีเหตุผล  ปัญหาในการเลี้ยงดูลูกจึงคลี่คลายลงด้วยความรู้เหล่านี้

ขณะที่พ่อแม่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมด้วยเช่นกัน

ในงานปฐมนิเทศผู้ปกครองระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสาธิตพัฒนา ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี หรือคุณหมอเดว ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาบรรยายในหัวข้อ “รู้จักเด็กทั้งตัว และหัวใจ” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจการเลี้ยงลูกวัยรุ่นในยุคปัจจุบันให้กับผู้ปกครองและครู

Δ สมองพร้อมเรียนรู้ต้องเข้าใจหลัก BBL

หลักการทำงานของสมอง (BBL Key Principles)
การเลี้ยงดูลูกนั้น ขั้นแรกจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจธรรมชาติและการทำงานของสมอง ที่เรียกว่า BBL Brain-Based Learning ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาในด้านวิชาชีพและในชีวิตจริง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

คุณหมอเดว บอกว่า เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีต้องเข้าใจการทำงานของสมอง คือ สมองต้องมีความต้องการทั้งอาหารกายและอาหารใจ สมองจะเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน จะทำให้เกิดการจดจำได้ดี ระหว่างการเรียนรู้ต้องมีความสุข สมองเรียนรู้ได้ทั้งแบบตั้งใจเมื่อถูกบังคับและแบบไม่ตั้งใจ และจะเรียนรู้จากของจริงไปหาสัญลักษณ์  จากง่ายไปหายาก  เรียนรู้ผ่านการลงมือทำแล้วฝึกฝนจนเกิดทักษะ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบความถนัดของตนเองได้

“เมื่อกายไม่พร้อมใจไม่เปิด เด็กไม่เกิดการเรียนรู้ เด็กไทยส่วนใหญ่รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ และยังติดหนี้การนอน วัยรุ่นมีจะสารประเภทหนึ่งหลั่งออกมาทำให้นอนหลับดึกมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเด็กเรียนมาทั้งสัปดาห์ต้องมีเวลาให้พักผ่อน การนอนที่เพียงพอจะช่วยลดความเครียดและพร้อมที่จะเรียนรู้ แต่เด็กบางคนเสาร์อาทิตย์ต้องเรียนพิเศษ นอนตื่นสายไม่ได้ พ่อแม่และครูต้องช่วยกันให้เด็กนอนหลับเพียงพอ ได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพและจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการทำงานของสมอง”

Δ สัญญาณเมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

หลายคนอาจจะคิดว่า เมื่อลูกสาวมีประจำเดือนเป็นสัญญาณการเข้าสู่วัยรุ่น หากเป็นลูกชายคงเป็นตอนที่เสียงแตกหนุ่ม แต่ความจริงแล้วสัญญาณเช่นนั้นหมายความว่าลูกได้เข้าสู่วัยรุ่นมา 2 ปีแล้ว

“การเข้าสู่วัยรู่นของลูกสาวสังเกตจากเริ่มมีเต้านม โดยอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 10 ปี บวกลบ 2 ปี ตอนนั้นเด็กยังเรียนชั้นประถม พ่อแม่ต้องเตรียมการเรื่องชีวิตวัยรุ่นให้กับลูกแล้ว ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าผู้ชาย 2 ปี ขณะที่เด็กผู้ชาย สัญญาณของการเข้าสู่วัยรุ่นจะอยู่ที่การขยายตัวของอัณฑะหรือมีขนขึ้นตรงหัวหน่าว ถึงตอนนั้น อีก 2 ปี ก็ทำคนอื่นท้องได้แล้ว”

คุณหมอเดว บรรยายเกี่ยวกับเรื่องลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ในงานวันปฐมนิเทศ โรงเรียนสาธิตพัฒนา


“ทันทีที่เด็กเข้าสู่วัยรุ่น จะมีฮอร์โมนหลั่งออกมาทำให้มีพลังเพิ่มขึ้น เมื่อสัญญาณวัยรุ่นแสดงออกมา พ่อแม่ต้องคุยกับลูกเรื่องเพศศึกษา โชคดีที่ธรรมชาติของวัยนี้จะชอบคุยกับพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกันอยู่แล้ว ถ้าแม่หรือพ่อสนิทกับลูก ลูกก็จะถาม แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นมิตรเด็กจะไปคุยกับเพื่อนหรือในเว็บไซต์ ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับสิ่งไม่ดีหรือไม่ถูกต้องกลับมา”

โดยลักษณะของพ่อแม่ที่เป็นมิตรกับลูก คือพ่อแม่ที่ให้ความอบอุ่นและทำให้ลูกรู้สึกไว้วางใจ มอบความรักอย่างมีขอบเขต ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูก ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ฟังและมีการสื่อสารที่ดีต่อกัน

ไม่เพียงพ่อแม่จะต้องเข้าใจเรื่องธรรมชาติของร่างกาย แล้วยังต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสมองส่วนคิดของเด็ก

“เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลายจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ เขายังไม่เข้าใจอะไรที่เป็นนามธรรม ยังไม่มีวุฒิภาวะ การพัฒนาสมองส่วนคิดจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กได้นั่งคุยกับพ่อแม่ แต่ถ้ามีเพื่อนอยู่ด้วยเด็กจะใช้อารมณ์ทันที กล้าได้ไม่กลัวเสียเพราะต้องการยอมรับ พ่อแม่ต้องสร้างให้เขาเติบไปโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำสิ่งไม่ดี ต่อให้อยู่เป็นกลุ่มกับเพื่อนก็ไม่ไหลไปตามอารมณ์ เราสามารถทำได้ด้วยการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง”

Δ เลี้ยงลูกให้ถูกทาง

การเลี้ยงลูกแบบผิดๆ ส่งผลให้เด็กเป็นคนที่ไม่ต้องการของสังคม พ่อแม่คงไม่ยากให้ลูกเป็นแบบนั้น การเลี้ยงลูกที่ดีจะต้องไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งคือปล่อยเกินไปหรือเข้มงวดเกินไป รวมถึงไม่ต้องถูกตามทฤษฎี เป๊ะ แต่ต้องเลี้ยงดูอย่างเข้าใจ มีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์และเข้าใจพื้นนิสัยของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน

หน้าที่

บกพร่อง ละเลย ทำไม่ดี

รักดูแลมากเกินไป

คุ้มครอง

ทารุณกรรม กาย วาจา ใจ

ปกป้อง ไม่สนใจผิดถูก เอาแต่ใจ

โภชนาการ

ขาดสารอาหาร เตี้ย

อ้วน

ที่อยู่อาศัย

ไม่มีบ้าน ไม่ปลอดภัย

มีหลายบ้าน
ขาดความผูกพันกับชุมชนและรากเหง้า

สุขภาพ

ปล่อยให้เจ็บป่วย

หวาดระแวงมากเกินไป

ส่งเสริมสนับสนุน

ปล่อยปละละเลย

เร่งรัดบังคับทุกอย่าง

วินัย

ขาดวินัย ไม่วางกฎเกณฑ์
ไม่กำกับติดตาม

เข้มงวด กติกา ดุดัน ไม่ผ่อนปรน

ให้ความรัก

ขาดรัก กำลังใจ

สำลักความรัก ตามใจ

ปฏิสัมพันธ์ในบ้าน

ห่างเหิน ต่างคนต่างอยู่

ใกล้ชิดกันจนขาดพื้นที่ส่วนตัว

ปฏิสัมพันธ์สังคมภายนอก

ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีกติกา

เข้มงวด ไม่คบค้าสมาคมใดๆ

“เด็กมีอยู่ 4 แบบ เลี้ยงง่าย เลี้ยงยาก อ่อนไหวง่ายและอารมณ์แปรปรวน เด็กแต่ละคนไม่ได้เป็นผ้าขาวแต่เป็นผ้าสีพื้นที่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นนอกจากต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กแล้ว อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ เพราะจะบาดเจ็บทั้งเด็กและพ่อแม่”

ส่วนปัญหาจากการเลี้ยงดูที่พบบ่อยในปัจจุบัน คุณหมอเดว บอกว่า เกิดจากพ่อแม่ยุคใหม่เลี้ยงลูกแบบให้ความรักมากเกินไป มุ่งไปที่การเรียนอย่างเดียวไม่เปิดโอกาสให้ได้ร่วมรับผิดชอบงานบ้านและแก้ปัญหาใดๆ มีคนคอยทำให้ทุกอย่าง เด็กจึงขาดทักษะชีวิต

“เคยไปบรรยายที่โรงเรียนดังแห่งหนึ่ง หมอถามเด็กว่ามีใครช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านบ้าง ปรากฏว่าเงียบกริบกันทั้งห้องประชุม เพราะพ่อแม่ทำให้หมด เด็กไม่รู้จักการทำงานแบบนี้ พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบสำลักความรักจนตาย เด็กต้องรู้จักทำงาน รับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น รู้จักเผชิญปัญหาและเอาชนะมันให้ได้ จึงจะอยู่รอด”

อีกทักษะชีวิตที่จำเป็นจึงเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาและรู้จักอารมณ์ของตนเอง

“พ่อแม่ต้องให้เวลาสนทนากับลูกทุกวัน เรียกว่า 15 นาทีทอง 3 คำถาม คือถามว่า วันนี้ทั้งวันรู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วทำอย่างไรต่อ ทำให้เด็กรู้จักทบทวน รู้จักสะท้อนอารมณ์ของตนเอง เป็นการฝึกกระบวนการคิด การวิเคราะห์การแก้ปัญหาและไปต่อยอดสู่สิ่งอื่น ขณะที่พ่อแม่เองจะทราบอารมณ์ของลูก เข้าใจบรรยากาศและสถานการณ์ ทำให้เราสามารถควบคุมและออกแบบวิธีการที่จะสอนลูกได้”

ทั้งหมดจึงสะท้อนให้เห็นว่า เป้าหมายสูงสุดในการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ยุคนี้ควรยึดไว้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสร้างเด็กให้ไปประกอบอาชีพที่สามารถทำรายได้สูงๆ หรือเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวอีกแล้ว พ่อแม่ยุคใหม่จะต้องเลี้ยงลูกเพื่อให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่คุณภาพ มีสัมมาชีพและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับที่โลกต้องการ ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดของผลลัพธ์นั้นคือพ่อและแม่

Q.A. พ่อ-แม่ถาม หมอตอบ เรื่องกังวลเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น

1.พ่อถาม: ทำอย่างไร ลูกถึงจะค้นพบความชอบของตนเอง?
หมอตอบ: ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติของเด็ก ไม่ต้องพาไปทดสอบทางเทคนิคอะไร พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดนอกกรอบและสัมผัสกับทุกเรื่องที่เขาอยากลอง หากไม่อันตรายจนเกินไป ปล่อยให้ลูกได้มีเวลาเล่น ไม่ใช่มุ่งแต่เรียนหรือกวดวิชา ถ้าเราเปิดใจ ไม่คาดหวังจะสังเกตเห็นเองว่าลูกชอบอะไร เวลานั้นพ่อแม่ก็แค่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริม เด็กจะเริ่มค้นพบความชอบของตนเอง
2.พ่อถาม: เลี้ยงลูกอย่างไรดี เมื่อปู่ย่า ตายายและพ่อแม่ มีวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน?

หมอตอบ: เรื่องนี้ต้องทำแบบสมัชชาครอบครัว ขั้นแรกพ่อและแม่ต้องมีมาตรฐานในการเลี้ยงดูลูกแบบเดียวกันเสียก่อน คุยกันให้ลงตัว แล้วหาเวลาพูดกับปู่ย่าตายายแบบสุนทรียสนทนา เจรจาแบบให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีข้อตกลงร่วมกัน อธิบายให้ทุกคนจะเข้าใจเหตุผลว่าที่ต้องเลี้ยงดูลูกแบบนี้เพราะอะไร เชื่อว่าทุกคนมีพื้นฐานความรักให้กับลูกหลานเหมือนกันอยู่แล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่คุยกันได้และพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีการเลี้ยงดูในแบบเดียวกัน

3.แม่ถาม: ลูกผู้หญิงมีแฟน เราจะปล่อยหรือห้ามถึงจะดี?

หมอตอบ: การห้ามสำหรับเด็กบางคนอาจเกิดการต่อต้าน ให้พ่อแม่ลองชวนคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในข่าวหรือละคร แล้วคุยวิเคราะห์กันว่า ลูกดูแล้วรู้สึกอย่างไร วันหนึ่งหากลูกเจอสถานการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร จะปฏิเสธอย่างไร เราจะเห็นวิธีคิดของลูก นี่คือการติดอาวุธและสร้างภูมิคุ้มกัน  แต่ต้องจำไว้เสมอว่า อย่าเปิดไฟเขียวทุกอย่างและต้องไม่ให้ลูกได้อยู่กับแฟนสองต่อสอง อย่าแต่งตัวล่อตาล่อใจหรือให้แตะเนื้อต้องตัว เพราะด้วยวัยของเขาเสี่ยงที่จะไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้และจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ทันที

4.พ่อถาม: จำเป็นต้องให้ลูกเรียนพิเศษหรือไม่ เพราะระบบไทยยังมีการสอบแข่งขัน?

หมอตอบ: ขอยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่มาขอคำปรึกษาหมอ พ่อลูกทะเลาะกันแบบรุนแรงมาก เพราะพ่อหวังดีไปลงเรียนกวดวิชาให้ลูกตลอดช่วงปิดเทอมโดยไม่ถามลูกสักคำ ฝั่งลูกเพิ่งสอบเสร็จ ปิดเทอมก็อยากมีเวลาพักผ่อน หมอเลยถามพ่อว่าทำแบบนั้นเพราะอะไร พ่อก็ตอบว่า

“ลูกบอกเองว่าอยากเป็นหมอ ถ้าไม่เรียนพิเศษก็สู้คนอื่นไม่ได้ แล้วจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร ทั้งหมดเป็นความต้องการของลูก ผมไม่มีปัญหา ไม่ได้ต้องการให้ลูกเป็นหมอ ขอให้มีสัมมาชีพ ถึงไม่ได้เป็นหมอพ่อก็รักและภูมิใจ”

พ่อตอบมาดีมาก แล้วหมอก็ถามว่า “ลูกรู้ไหมว่าพ่อคิดแบบนี้ เคยพูดให้ลูกได้ยินหรือไม่” จากนั้นพ่อก็กลับไปคุยกับลูก ทุกข์ก็ปลดระวางหมดลูกเข้าใจ พ่อเข้าใจ กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเหมือนเดิม

ขอให้ทราบไว้เลยว่า ลูกทุกคนมีความกดดันในตัวเองอยู่แล้ว หน้าที่ของพ่อแม่คือการปลดระวางความกดดันของลูก ไม่ใช่ไปทำให้ลูกระเบิดแตก เรื่องนี้ต่อให้คนอื่นพูดก็ไม่มีผล ต้องพ่อแม่เท่านั้น เพราะคุณสำคัญกับเขา

ถ้าคุณแม่ถามว่าลูกอยู่ ป.4 จะให้เรียนพิเศษดีไหม ให้กลับไปดูว่าตอนนี้ลูกมีโอกาสที่จะเล่นหยอกล้อ Pillow Fighting กับพ่อแม่ไหม ได้มีเวลาเพิ่มสัมพันธภาพระหว่างกันหรือยัง ถ้าไม่มีเลิกเถอะครับ กวดวิชาไม่มีประโยชน์ เราไม่อยากได้คนเก่งเลิศเลอ เป็นหุ่นยนต์แต่ไม่มีหัวใจ และเชื่อว่าพ่อแม่ก็ไม่อยากได้ลูกที่แข็งกระด้าง เราอยู่กันแบบนี้มานานแล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนค่านิยม เราไปกันไม่รอด ลูกผมเองก็ไม่ได้เป็นหมอทั้งคู่ ฝากไว้แบบนี้ครับ