ปิดเทอม คือ ช่วงเวลาที่ให้เด็กได้มีโอกาสพักผ่อน ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต สิ่งแวดล้อม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกรั้วโรงเรียน การเรียนของเด็กเกิดได้หลากหลาย การค้นคว้าเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็ก คือ การเรียนรู้ที่ก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ เด็กจึงไม่ควรถูกบีบบังคับให้เรียนพิเศษช่วงปิดเทอม เพียงเพื่อกลัวลูกจะลืมหนังสือ เรียนไม่เก่งเหมือนลูกเพื่อนบ้าน หรือแบ่งเบาภาระพ่อแม่เพราะไม่มีเวลาดูแล (หนังสือพิมพ์มติชน โดย อ.สง่า ดามาพงษ์์)
ปิดเทอมแต่ละครั้ง ถ้าถามความรู้สึกเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่อาจได้คำตอบแตกต่างกัน ในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม เป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปทั้งทางบวกและทางลบ จึงเป็นห้วงเวลาที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ โดยการวางแผนให้ลูกใช้ชีวิตช่วงปิดเทอมอย่างมีคุณภาพบางครอบครัวอาจจะบอกว่า “ไม่ต้องห่วงค่ะ จัดเต็มเรียนพิเศษให้ลูกทุกวันเลย” แต่ความจริงแล้ว กิจกรรมในช่วงปิดเทอมไม่จำเป็นต้องเน้นในเรื่องของการเรียนหนังสือ อาจจะเปลี่ยนเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ฝึกให้ลูกรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ในโรงเรียนไม่มีหรือไม่สามารถทำได้
ดูแลลูกๆ อย่างไรดีในช่วงปิดเทอม?
เรื่องนี้ แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพ จิตเด็กและวัยรุ่นราช นครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เคยให้ความเห็นไว้ในตอนหนึ่งของบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ว่า วัตถุประสงค์จริงๆ ของการปิดเทอมคือ อยากให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับพ่อ แม่ ผู้ปกครองบ้าง แต่ปัจจุบันการดำเนินชีวิต สถานการณ์เปลี่ยนไปเพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ฉะนั้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นกับลูกจึงต้องคำนึงในหลายๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องของความปลอดภัย
“ในส่วนของเด็กๆ ถ้าเห็นชัดว่าเขาชอบอะไรก็ส่งเสริมเขาไปเลย เพราะยิ่งส่งเสริมไปเท่าไรทักษะก็จะยิ่งดี ถ้ายังไม่รู้ก็ส่งเสริมไปหลายๆ ทักษะ ให้เขาได้ทำอะไรในแต่ละวัน เขาก็จะสนุกและได้ใช้พลังงานเพราะเด็กเล็กพลังงานมีมาก ถ้าให้อยู่บ้านโดยที่ไม่มีอะไรทำเขาก็จะเบื่อได้”
อีกเรื่องหนึ่ง ที่พ่อแม่จะต้องดึงลูกออกมา คือ เรื่องของการเล่นเกมหรืออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์ ถ้าลูกอยู่กับสิ่งนี้นานเกินไปจะต้องให้ลูกลดและไปเพิ่มกิจกรรมอื่น ๆ แทนบ้าง เพราะการเล่นเกมคุมลำบาก เว็บไซต์ที่ไม่ดีก็มีมากมาย กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นกับลูกในช่วงปิดเทอมนี้ ถ้า พ่อ แม่ วางแผนดีๆ สนับสนุนกิจกรรมที่ลูกชอบและให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือก ก็จะยิ่งช่วยให้เขามีความสุข และสนใจจะเรียนรู้เพื่อให้ตนเองได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ในโรงเรียนไม่มี นับเป็นโอกาสทองที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในช่วงเปิดเทอม แถมยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.thaihealth.or.th