ปิดเทอมนี้ มีข้อมูลดีๆ มาแชร์ให้ผู้ปกครองใช้สอนลูกๆ กัน จากงานเสวนาการเงิน “คุยกัน Money x CBS” ตอน สอนลูกหลานฉลาดใช้เงิน โดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ศคง.) ร่วมกับภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ซึ่งทางเพจ Get Wealth Soon ได้นำเนื้อหามาสรุปไว้อย่างดี จึงขออนุญาตมานำเสนอต่อให้อ่านกันในบล็อกนี้
ข้อมูลเต็มไปด้วยเทคนิคดี ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้สอนบุตรหลานให้มีวินัยทางการเงินกันได้เป็นอย่างดี เช่น การรู้จักยับยั้งช่างใจในการซื้อของ การแบ่งเก็บเงินออม ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เรามองข้ามไปที่จะสอนบุตรหลานในยุคนี้ หากใครสนใจสามารถอ่านบทสรุปหรือดูคลิปฉบับเต็มได้โดย คลิกที่นี้
1. ก่อนอนุบาล (0-2 ขวบ)
เป็นวัยที่ติดเล่น งอแง และเป็นเจ้าหนูจำไม ยังไม่สามารถสอนเรื่องการเงินแทรกเข้าไปได้ แต่สอนนิสัยที่เป็นสิ่งจำเป็นเกี่ยวกับเรื่องการเงินได้
▲ สอนให้รู้จักรอ / ต่อคิวซื้อของ : เพื่อปลูกฝังให้รู้ว่า ไม่มีอะไรที่จะได้ในทันที การลงทุนก็เช่นกัน ต้องรู้จักการรอ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในอนาคต
▲ สอนให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ : จากงานวิจัยของต่างประเทศ ให้เด็กเข้ามาในห้องคนเดียว มีขนมให้ 1 ชิ้น และบอกกับเด็กว่า ถ้าหากอดทนรอ ไม่ทานขนมชิ้นนี้ จนกว่าพี่ๆทีมงานจะเข้ามาใหม่ จะได้ขนมเพิ่มเป็น 2 ชิ้น ผลวิจัยนี้ได้เก็บข้อมูลเด็กกลุ่มหนึ่ง และดูผลลัพธ์ตอนโตว่าเด็กแต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ปรากฎว่า “เด็กที่อดทนรอได้ จะประสบความสำเร็จทางด้านการเงินมากกว่าเด็กที่ทานขนมเลยทันที” สื่อไปถึงเรื่องการเงินเกี่ยวกับการรูดบัตรเครดิตได้ หากตัดสินใจรอสักนิด กลับมาวางแผนการเงินก่อน ดูว่าเป็นสิ่งของที่แค่อยากได้ หรือ จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ว่าอยากได้ของแล้วรูดซื้อเลยทันที เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาหนี้สินได้
▲ สอนด้วยวิธี EF (Executive Function) : เป็นการสอนให้ลูกมีทักษะการคิดแบบมีเหตุผล หากลูกรู้สึกโกรธ รู้สึกไม่พอใจ ไม่ต้องไปห้าม ไปค้าน แต่สอนให้ลูกรู้ทันอารมณ์ เพราะเป็นปกติที่จะเกิดอารมณ์แบบนั้นขึ้นได้
2. อนุบาล (3-5 ขวบ)
เป็นวัยที่ชอบฟังนิทาน ชอบฟังการเล่าเรื่อง สามารถใช้ประโยชน์ของนิทานปลูกฝังให้มีลักษณะนิสัยที่ดีเกี่ยวกับเรื่องการเงินได้
▲ เล่านิทานเรื่องการแบ่งปัน/การอดทนรอ : ปลูกฝังให้รู้จักการแบ่งปัน บอกถึงเหตุผลว่าทำไมต้องแบ่งของให้เพื่อน ให้ผู้ใหญ่ และปลูกฝังเรื่องการอดทนรอ เช่น นิทานเรื่องชาวนา ว่ากว่าจะได้เกี่ยวข้าว ก็ต้องใช้เวลาในการรอเก็บเกี่ยวก่อน
▲ สอนให้รู้จักทำงานบ้าน : เพื่อให้รู้จักช่วยเหลือคนอื่น อาจจะมีรางวัลหรือค่าตอบแทนให้เป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าทำงานเพื่อให้ได้เงินอย่างเดียว ต้องสอดแทรกเรื่องอื่นเข้ามา เช่น ลูกไม่ได้เงิน แต่บ้านเราสะอาดขึ้น สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นนะ
▲ สอนให้รู้แหล่งที่มาของเงิน : การพาลูกไปเรียนรู้การขายของ เพื่อปลูกฝังว่า เงินไม่ใช้สิ่งที่อยู่ๆก็ได้มา ต้องแลกมากับการทำอะไรบางอย่างเสมอ
3. ประถมศึกษาตอนต้น (6-8 ขวบ)
เป็นวัยที่อยากได้ของเล่นเยอะๆ
▲ สอนให้รู้จักการออมเงินด้วย “4 กระปุกออมสิน” เพื่อให้รู้ว่าแต่ละกระปุกมีบทบาทอะไร ใช้ทำอะไร เลือกใช้ให้ถูกกระปุก เรียงลำดับการหยอดตามนี้
กระปุกใบที่ 1 Saving สำกรับการเก็บออม : ยังไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไร เอาออกมาใช้ได้บ้าง โดยหยอดเป็นใบแรก เมื่อลูกเรียนจบเทอม หรือ ถึงสิ้นปี แงะกระปุกออกมานับ คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยเติมเงินสมทบให้ลูกเป็นรางวัล เพื่อให้ลูกมีกำลังใจในการออมเงินมากขึ้น
**7 ขวบเปิดบัญชีธนาคารเป็นชื่อลูกได้แล้ว สามารถแทรกการอธิบายเรื่องการเงินเข้าไปได้ว่ารางวัลที่พ่อแม่ให้นี้ ถ้าไปฝากธนาคารมันคือดอกเบี้ยนะ
กระปุกใบที่ 2 Emergency สำหรับเก็บไว้เผื่อฉุกเฉิน : จะแตกต่างกับกระปุกแรก คือ ถ้าไม่เกิดเหตุจำเป็นจริงๆจะไม่นำมาใช้เด็ดขาด เพื่อให้เรียนรู้เรื่องการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน เช่น กรณีเจ็บป่วย หรือ ขาดรายได้ ก็ยังมีเงินส่วนนี้ไว้จ่ายค่ารักษา ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจนกว่าจะหางานใหม่ได้อยู่
กระปุกใบที่ 3 Spending สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน : ว่าวันนี้ พรุ่งนี้ใช้เงินเท่าไหร่
กระปุกใบที่ 4 Sharing สำหรับการแบ่งปัน : เพื่อให้นึกถึงคนอื่นด้วย เช่น การทำบุญ การบริจาคเงิน ปล่อยปลา ให้อาหารปลา แต่อยู่เป็นลำดับสุดท้าย เพื่อให้รู้จักการรักตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่น
4. ประถมศึกษาตอนปลาย (9-11 ขวบ)
เป็นวัยที่สามารถเลือกซื้อของเองได้แล้ว
▲ สอนเรื่องการวางแผน : การทำรายการของที่จะซื้อ เวลาไปจ่ายตลาด หรือ ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า เพื่อปลูกฝังให้มีการวางแผน เลือกซื้อของเท่าที่จำเป็น ถ้าลูกอยากได้อะไรนอกเหนือจากนี้ ให้คุยกับลูกด้วยเหตุผลว่า งั้นเรามาวางแผนกันก่อน ว่าจะเก็บเงินยังไง แล้วมาซื้อด้วยกันนะ (ต่อเนื่องจากวัยเด็ก หากลูกมีนิสัยที่ยับยั้งชั่งใจเป็น จะอดทนรอของชิ้นนี้ได้ และจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มา)
▲ สอนเรื่องการเปรียบเทียบราคา : ให้ลูกเห็นว่าราคาของที่ตลาด กับ ราคาที่ห้างสรรพสินค้าแตกต่างกันนะ แบบไหนเรียกถูก แบบไหนเรียกแพง ทำไมถึงแตกต่างกัน อาจจะด้วยเรื่องคุณภาพของสินค้า หรือ ค่าเช่าที่ที่ต่างกัน
▲สอนเรื่องการหาราคาต่อหน่วย : ของ 1 ชิ้น ราคาเท่ากัน แต่ทำไมมีปริมาณที่แตกต่างกัน สอนให้ลูกรู้จักการหาราคาต่อหน่วย ว่าซื้อชิ้นไหนคุ้มค่าที่สุดด้วยการจ่ายเงินเท่านี้
5. มัธยมศึกษาตอนต้น (12-14 ปี)
เป็นวัยที่อยากได้ของราคาแพงขึ้น
▲ สอนเรื่องการตั้งงบประมาณ : ให้เงินไปโรงเรียนเท่านี้ ใช้ทำอะไรได้บ้าง ควรใช้ยังไงให้คุ้มค่าที่สุด
▲ สอนวิธีที่จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น (มากกว่าการฝากออมทรัพย์) : ให้รู้ว่าฝากออมทรัพย์ ได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยเท่าไหร่ ถ้าลูกออมเงินได้จนเป็นนิสัย จะสามารถเสนอทางเลือกให้ลูกได้เพื่อเพิ่มผลตอบแทน เช่น การฝากประจำ ที่ได้ดอกเบี้ยมากกว่าฝากออมทรัพย์ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝากมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างวินัยการออมเงินที่ดี
(Get Wealth Soon ขอแทรกเรื่องการพาลูกไปซื้อสลากออมสิน หรือ สลากธ.ก.ส ด้วย เพื่อให้ลูกรู้จักสินทรัพย์หลากหลายมากขึ้นด้วย)
6. มัธยมศึกษาตอนปลาย (15-17 ปี)
เป็นวัยที่หาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าตัวเองชอบ/ถนัดอะไร
▲ สอนให้รู้จักการบริหารเงินแบบลึกขึ้น : การที่พ่อแม่มีบ้าน มีรถนั้น อาจจะต้องไปเป็นหนี้ แล้วมีการบริหารจัดการค่าจ่ายอย่างไร
▲ สอนให้รู้จักเรื่องหนี้ : ให้รู้จักการเป็นหนี้ให้เป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษเช่นกัน ถ้าบริหารเงินไม่เป็น เช่นเรื่องบัตรเครดิต สามารถให้คุณและให้โทษในเวลาเดียวกันได้
▲ สอนให้รู้จักต้นทุนของเงิน : ให้ลูกรู้ว่าการเรียน ก็เป็นการลงทุนนะ เป็นการฝึกให้ลูกหาเป้าหมายในชีวิต ว่าสิ่งที่เรียนอยู่ ตอบโจทย์ชีวิตลูกมั้ย จะได้เลือกคณะที่เรียนแล้วมีความสุข เป็นการไปเรียนแบบมี Passion ไม่เสียเงินเปล่า
สอนให้ลูกรู้ว่าทุกอาชีพสามารถได้รับผลตอบแทนที่สูงเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอเสมอไป ถ้าลูกเลือกในสาขาที่ลูกชอบ ลูกจะทำได้ดีที่สุด ทำให้เรียนจบไปแบบมีคุณค่า
ที่มา Facebook Page : Get Wealth Soon – สร้างความมั่งคั่งไปด้วยกัน