มีคำถามที่หมอคิดว่าคงเป็นเรื่องที่แม่(และพ่อ)หลายคนกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ จึงขอนำมาตอบหน้าเพจหมอเห็นด้วยว่าช่วงเวลาที่เรียนออนไลน์แบบนี้ ทำท่าจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะสถานการณ์ดูเรื้อรังกว่าที่คาด

ดังนั้นหมอขอให้ข้อคิดและแนวทางปฎิบัติในช่วงเวลาแบบนี้ หวังว่าจะพอช่วยได้

1. ต้องเข้าใจก่อนว่าการจะไม่เครียดนั้นเป็นไปไม่ได้ สำคัญคือต้องค่อยๆ จัดการความเครียดที่เกิดให้เหมาะสม ดังนั้นอย่าไปตั้งเป้าหมายว่า “ฉันจะไม่เครียดๆ” มันไม่เป็นธรรมชาติ เครียดก็คือเครียด ยอมรับก่อนจึงจัดการได้
2. บางทีช่วงนี้พ่อแม่ก็ต้องเป็นครูให้ลูก เพราะลูกไปโรงเรียนไม่ได้ บางทีก็เหมือนต้องมานั่งสอนอธิบาย
3. พ่อแม่คงต้องเหนื่อยขึ้น บางคนมีงานอื่นที่ต้องทำด้วย ไม่ว่าจะเป็น WFH หรืองานบ้านที่มีอยู่เดิม พ่อแม่อาจมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องเครียดอีก ไม่ใช่แค่เรื่องลูก
4. อย่าคิดว่าลูกจะตั้งใจเรียนออนไลน์ตลอด เวลาอยู่หน้าจอนานๆ ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ยังเบื่อ นับประสาอะไรกับเด็กๆ คงมีวอกแวก หรือหลบไปทำอย่างอื่นบ้าง เอาเป็นว่าถ้าโดยรวม เขายังรับผิดชอบ ทำการบ้านส่งครบ ก็โอเค
5. ไม่มีอะไรที่เพอร์เฟ็ค 100% อันนี้หมายถึงทั้งตัวพ่อแม่เอง และตัวลูก อย่าไปกดดันตัวเองหรือลูกมาก ต้องเข้าใจว่ามันเป็นสภาวะที่ไม่ปกติ จะเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่ตั้งใจ อะไรไปบ้างเป็นธรรมดา พ่อแม่เองก็ไม่ใช่ต้องทำทุกสิ่งดีเลิศ ให้ตัวเองมีความยืดหยุ่นบ้าง ทำดีที่สุดแล้ว
6. เรียนรู้จากความผิดพลาด ในวันที่ลูกหรือแม่แต่พ่อแม่เองทำผิด ตักเตือนกันและกันด้วยความเข้าใจ ทำโทษตามความเหมาะสม แต่ถ้าเข้าใจจะไม่เป็นอารมณ์มาก อย่าลืมให้โอกาสตัวเองและลูกด้วย
7. หาตัวช่วยบ้าง อย่าคิดว่าพ่อแม่เป็น Superman หรือ Superwoman พ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดาที่มีเหนื่อยมีล้าได้ ถ้าไม่ไหว ขอความช่วยเหลือบ้าง (อาจปรึกษาคุณครูของลูกก็ได้ เผื่อครูจะช่วยแนะนำ หรือผ่อนผันบางอย่างได้) หรือถ้าไม่รู้จะขอใครก็หาเวลาไปพักบ้าง ทำอะไรที่ผ่อนคลายตัวเรา เช่น ไปดูซีรีส์สนุกๆ ในช่วงเวลาที่ลูกหลับ ทำโยคะ เป็นต้น แต่อย่าลืมนอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึกเกินไป
8. จัดตารางเวลาการใช้ชีวิตด้วยกัน การที่พ่อแม่ทำ Routine ในแต่ละวันกับลูก จะทำให้คุยกับลูกได้ง่ายขึ้น อย่าลืมให้ลูกทำงานที่จำเป็นเสร็จเรียบร้อยค่อยเล่น จะทำให้ลูกกับพ่อแม่ทะเลาะกันน้อยลง และมีเวลาให้เขาได้เล่นอิสระ ตารางเวลาควรให้ลูกได้นอนเป็นเวลา การพักผ่อนก็สำคัญ เวลาทำตารางอาจมีความเห็นแย้งกัน ค่อยๆ อธิบายด้วยเหตุผล
9. ลองมองหาข้อดีที่มีอยู่บ้างในสถานการณ์ที่เป็น เช่น พ่อแม่บางคนบอกหมอว่า ทำให้เขารู้จักลูกในสภาพที่คล้ายอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น รู้ว่าการเรียนของลูกยากมากแค่ไหน การบ้านเยอะ ครูสั่งงานเพียบ ก็เข้าใจลูกมากขึ้น
10. อย่าลืมดูแลสุขภาพกายและใจพื้นฐานของพ่อแม่ กินอาหาร พักผ่อน มีวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย โยคะ ฟังเพลง คุยกับคนที่ไว้ใจ ฯลฯ อย่าละเลยความสำคัญในการดูแลตัวเองเพราะก่อนที่เราจะไปดูแลใครการดูแลตัวเราเองให้พร้อมสำคัญที่สุดค่ะ
หวังว่าสิ่งที่หมอเขียนนี้จะพอช่วยอะไรได้บ้างในภาวะการแบบนี้ ขอส่งกำลังใจให้กันและกัน และขอให้ปลอดภัยมีสุขภาพที่ดีค่ะ
เครดิตจาก Fanpage : #หมอมินบานเย็น