![TCAS คืออะไร](https://blog.satitpattana.ac.th/wp-content/uploads/2017/07/feature_tcas.jpg)
TCAS หรือ Thai University Center Admission System เป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
TCAS มีขั้นตอนอย่างไร
ระบบ TCAS ที่ทาง ทปอ. ได้ประกาศออกมา มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
- คัดเลือกโดยการส่งแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
ในรอบนี้จะพิจารณาจากผลงานของนักเรียนที่นำมาใส่ Portfolio ไม่มีการสอบข้อเขียน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกนักเรียนจำนวนหนึ่ง อาจจะมีการสัมภาษณ์หรือทดสอบทักษะเฉพาะทาง โดยการคัดเลือกในรอบนี้เป็นแค่การ Pre-screening เท่านั้น
- สมัครโควตาแบบมีสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนในพื้นที่
ในรอบนี้จะเป็นการรับนักเรียนแบบโควตา สำหรับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ หรือ รอบเขตการศึกษา ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ในขั้นตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบเองได้เลย หรือจะใช้ข้อสอบส่วนกลาง อย่าง 9 วิชาสามัญ หรือ GAT/PAT เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา
- การรับตรงร่วมกัน
ในรอบนี้เป็นการสอบรับตรง ซึ่งโครงการรับตรงอย่าง กสพท. ก็รวมอยู่ในรอบนี้ด้วย โดยทาง ทปอ. จะเป็นส่วนกลางในการรับสมัครในรอบนี้ และทางมหาวิทยาลัยจะพิจารณาผลการคัดเลือก โดยผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา
- การรับ Admission
ในรอบนี้ยังคงใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกแบบ Admission โดยใช้องค์ประกอบของคะแนน อย่างเช่น GPAX, O-NET, GAT/PAT หรืออื่นๆ ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา
- การรับตรงแบบอิสระ
ทางมหาวิทยาลัยสามารถใช้เกณฑ์การสอบที่จัดขึ้นเองหรือการสอบวิชาเฉพาะ และส่งผลการคัดเลือกให้ทาง ทปอ.
แตกต่างกับแบบเดิมอย่างไร?
ระบบ TCAS มีการเพิ่ม Clearing-House เป็นระบบที่ใช้ในการยืนยันสิทธิ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละรอบจะต้องกดยืนยันสิทธิ์เคลียริ่งเฮาส์ในการที่จะเข้าเรียนได้แค่คนละ 1 ที่ เท่านั้น ระบบนี้สร้างมาเพื่อไม่ให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกหลายๆ ที่พร้อมกัน “กันที่” ของคนอื่นและยังสะดวกต่อทางมหาวิทยาลัยในการนับจำนวนคน