เอนหลัง….นึกย้อนไปเมื่อกลางวัน ใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงเรียนรู้เรื่อง “สามัญสำนึกคนเราที่หายไป” กับหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บินตรงจากเชียงรายมาเป่าขมองพ่อแม่อย่างเราๆ

เอ่ยชื่อหมอประเสริฐ พ่อแม่ยุคนี้ต้องรู้จัก วันนี้คุณหมอเน้นย้ำเรื่อง Executive Function (EF) ที่ตอนนี้เหมือนจะเลือนๆไป จากสังคมที่เปลี่ยนไปจากในอดีต

เราต้องสร้าง EF ในเด็กให้ได้ก่อนอายุ 9 ขวบ หรือเท่ากับเด็กป.3 หลังจากนั้น EF ซึ่งคือความสามารถระดับสูงของสมองจะเข้าสู่การสลายตัวเองโดยวงจรประสาท สิ่งที่ต้องทำก่อน 9 ขวบคือ การรู้จักควบคุมตัวเอง ซึ่งสมัยนี้เด็กควบคุมตัวเองได้น้อยมาก

ในโลกที่มี wifi พ่อแม่ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายให้ลูกได้แล้ว น้อยคนที่จะทำให้ลูกสำเร็จได้

เด็กรุ่นนี้วอกแวกมาก ขาดความอดทนที่จะทำเรื่องยากก่อนเรื่องง่าย หนังสือนิยายเล่มหนาๆไม่มีความสามารถที่จะอ่าน แต่สามารถดูการ์ตูน เล่นเกม อ่าน fb และ ไลน์เพื่อนได้ มีความสามารถที่จะทำอะไรได้หลายอย่างพร้อม ๆ กันได้ ยกเว้นการอ่านอะไรที่ยาว ๆ

ความอดทนเป็นความสามารถของสมองที่ต้องสร้างแต่เล็กก่อน 9 ขวบ เพราะสมองเด็กมีจุดเชื่อมต่อเซลล์ประสาทหนาแน่นที่สุด หลังจากนั้นช่วงอายุ 12-15 ปี จุดเชื่อมเริ่มจาง มี EF แค่ไหนก็ได้แค่นั้น (ฟังแล้วน่ากลัว)

การมี EF ที่ดี (ย้ำว่าต้องถูกสร้างก่อน 9 ขวบ) คือต้องควบคุมตนเองได้ ควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำ สามารถบริหารความจำใช้งานที่ยืดหยุ่นจนกว่าจะถึงเป้าหมาย ด้วยการมองอนาคต กำหนดเป้าหมาย วางแผน กล้าตัดสินใจ ประเมินผล ถ้าผิดทาง ต้องปรับแผนได้ ตั้งใจมั่น ไม่วอกแวก อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

ชีวิตต้องไม่ยอมแพ้ ทำไปเรื่อยๆ เหนื่อยได้ ท้อได้ แต่ต้องกลับมาฮึดสู้ได้

วงจรอื่นสลายไปได้ แต่ EF ต้องอยู่

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นนิสัย แต่เป็นเรื่องของสมองล้วน ๆ

ก่อนอายุ 12 ปี เด็กจะมองทุกอย่างเป็นรูปธรรม

หลัง 12 ปี การมองแบบรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นนามธรรม เด็กต้องสามารถมีความคิดที่ยืดหยุ่น และสามารถเปลี่ยนมุมมองได้ เช่น เจอปัญหาชีวิตก็สามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนมุมมองได้ ต้องเห็นปัญหาที่เป็นนามธรรมมากขึ้น เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์ตามมา

ง่ายๆ ทดลองกับคนใกล้ตัว เราควรมองคู่สมรส สามี ภรรยาที่เห็นภาพเดิมๆทุกวัน ด้วยมุมมองใหม่ที่ไม่ใช้สายตา แต่ใช้ใจมอง นี่คือความคิดที่ยืดหยุ่น

เด็กอายุ 12-14 ปี เริ่มมีความคิดที่เป็นนามธรรม เด็กจะถูกลดบทบาทจากการเป็นศูนย์กลางลง พ่อแม่ต้องเริ่มให้รางวัล ด้วยคำชม ไม่ใช่ติดสินบน ชมอย่างไร ให้ชมพฤติกรรมของเด็ก ชมที่คำกริยา ไม่ใช่ชมผลลัพธ์

เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น 15 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่สมองส่วนฮอร์โมนและอารมณ์โตเต็มที่ (ใจร้อน หุนหันพลันแล่น) ถ้าเลี้ยงลูกให้มี EF ที่เพียงพอมาในช่วงวัยเด็ก เด็กจะสามารถดูแลตัวเองได้ (ส่งไปเรียนไกลพ่อแม่ ก็ไม่เหลวไหล) เด็กสามารถเอาตัวรอดได้ (เข้าไปยุ่งเกี่ยวอบายมุข ก็ออกห่างมาได้) เด็กจะมีอนาคต และทักษะชีวิตที่ดี ดีจนบรรลุเป้าหมาย

ในทางกลับกัน ถ้า EF ไม่ดีพอ พ่อแม่จะเจอกับ “พายุวัยรุ่น” ที่ใช้สมองส่วนอารมณ์และฮอร์โมนนำทางไปอีกอย่างน้อย 10 ปี จนอายุ 25 เมื่อสมองส่วนสั่งการโตเต็มที่ เมื่อนั้นลูกของเราจะเริ่มมีเหตุมีผล

ในช่วง 10 ปีของพายุวัยรุ่น ถ้าเราได้สร้างแม่ที่มีอยู่จริง สร้างสายสัมพันธ์ที่มีอยู่จริง ส่วนนี้จะคอยดึงรั้งไม่ให้ลูกออกนอกลู่นอกทางมากเกินไป “เด็กออกนอกลู่แน่ แต่สามารถคุมตัวเองไม่ให้วอกแวกได้ระดับหนึ่ง” เราต้องปล่อยให้เด็กเผชิญการเป็นผู้ใหญ่ในช่วง 10 ปีทั้งนี้ขึ้นกับบุญกรรมของพ่อแม่ด้วย หมอฮา

“ทุกคนจะกลับเข้าที่ เมื่ออารมณ์สงบลง เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ตอนอายุ 25 ปี” สำคัญต้องสร้างแม่ที่มีอยู่จริง (เล่นกับลูก ใส่ใจลูก) สร้างสายสัมพันธ์ ดึงตัวตน มี self-esteem มี self-control และจะได้ EF เต็มรูปแบบที่  focus ได้ คิดยืดหยุ่น รู้จักหาคำตอบด้วยตัวเอง
เราอย่าไปห้ามเด็กทำโน่นทำนี่ แต่ควรสอนห้ามทำแค่ 3 อย่าง
1. ห้ามทำร้ายตัวเอง
2. ห้ามทำร้ายผู้อื่น
3. ห้ามทำลายข้าวของ

ห้ามแค่ 3 อย่าง แต่จะได้อะไรกลับมาอีกเยอะเลย

สามัญสำนึกคนเราหายไปหมด เพราะเราตกอยู่ในกับดักการแข่งขันสูง การเปรียบเทียบ จนไม่เป็นตัวของตัวเอง จนคาดหวัง (ลูก)สูง จนเด็กป่วยและต้องพบจิตแพทย์

พ่อแม่ต้องรู้จักบริหารเวลาอย่ามัวแต่ทำงานหาเงิน เด็กแต่ละคนต้องการ “เวลา” จากพ่อแม่ไม่เหมือนกัน อย่าเปรียบเทียบเด็กกับบ้านอื่น ถ้าบริหารไม่ดี เงินที่หาได้ก็ต้องไปจ่ายกับจิตเวช
#เขียนมาแบ่งให้เพื่อนอ่าน เพราะสังคมเธอก็คือสังคมเรา

คุณธนิดา ตัณศุภผล ผู้ปกครอง

เขียนโดย คุณธนิดา ตัณศุภผล ผู้ปกครอง
อดีตผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ภาพ : สมาคมผู้ปกครองโรงเรียนสาธิตพัฒนา